วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สมชัย เจริญวรเกียรติ: โครงการเปิดท้ายขายของ หรือ แลกเปลี่ยน สินค้ากันเองระหว่างพนักงาน

การพัฒนาองค์กร “เรื่องแค่นี้ทำได้....แล้วทำไม....ไม่ทำ” เรื่องที่ 2
        นายสมชัย เจริญวรเกียรติ     somchai48@gmail.com  8 มิถุนายน 2555

        เรื่องที่ 2  โครงการเปิดท้ายขายของ หรือ แลกเปลี่ยน สินค้ากันเองระหว่างพนักงาน
        หากทุกท่านลองพิจารณา ข้าวของเครื่องใช้ ของตนเอง จะพบว่า ข้าวของส่วนใหญ่ที่เรามีอยู่ เราจะใช้ของเหล่านั้นประจำเพียงไม่กี่ชิ้น ส่งผลให้เรามีของเหลืออยู่และไม่ได้ใช้จำนวนมากพอสมควร  สาเหตุใหญ่ ๆ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นที่รวดเร็ว หรือ เกิดจาก ความไม่พึงพอใจสินค้านั้น ๆ ของเราเอง  และบางครั้งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง ทำให้ไม่สามารถใช้ข้าวของเดิม ๆ ได้ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า
       
        การที่มีข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่และไม่ได้ใช้ จะส่งผลอย่างไรบ้าง
        1.ข้าวของเครื่องใช้เหล่านั้น จะเสื่อมอายุการใช้งานไปเรื่อย ๆ โดยทั่วไปพบว่าของที่ใช้จะเสื่อมไปตามอายุการใช้งาน หากแต่ว่าของที่เก็บไว้ไม่ใช้งาน มีโอกาสที่จะเสื่อมสภาพเร็วกว่า เช่น รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน
        2.ข้าวของเครื่องใช้ที่เก็บไว้ จะทำให้เปลืองเนื้อที่ในการจัดเก็บ ทำให้พื้นที่ใช้สอยของห้องลดลงเป้นอย่างมาก
        3.ข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่ได้ใช้จะเป็นที่เก็บฝุ่น เชื้อโรค และเป็นที่มาของโรคภูมิแพ้ได้ กรณีของผู้แพ้ฝุ่น
        4.ข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่ได้ใช้ หากกองเก็บไว้จะเป็นที่อยู่ของ สัตว์ และแมลงที่ ไม่พึงประสงค์ เช่น หนู แมลงสาบ มด แมงมุม ตะขาบ ซึ่งอาจได้รับอันตรายหากถูกกัด หรือ ถูกต่อย    
       
        เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเป็นที่มาของโครงการเปิดท้าย แลกเปลี่ยน ขายของ ระหว่างพนักงานกันเอง เพราะการจัดกิจกรรมนี้น่าจะมีประโยชน์ ต่อทั้งองค์กร และ พนักงาน คือ
        1.พนักงานจะมีรายได้จากการขายของที่ไม่ใช้แล้ว จำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ ข้าวของที่เหลือใช้ที่พบส่วนใหญ่ จะเป็นของกระจุกกระจิ๊ก เช่น ปากกาที่ได้ตอนปีใหม่ ของชำร่วยจากงานต่าง ๆ
        2.พนักงานสามารถลดค่าใช้จ่าย ของตัวเองได้จากการซื้อของที่ต้องการในราคาถูกลง เช่น พนักงานเอาเปล ที่ไม่ใช้ใช้แล้ว เนื่องจากลูกโตมาขายหรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมงาน คนที่มีลูกและต้องการเปล ก็สามารถเข้ามาขอซื้อได้ในราคาถูก หรือนำข้าวของอื่น ๆ มาแลกเปลี่ยนกับเจ้าของเปลก็ได้ ค่าใช้จ่ายในการซื้อเปลใหม่ของคนที่ต้องการเปลที่อาจลดลงมากถึง 50 % ก็ได้ หรือ บางครั้งถึงขนาดได้ฟรี ก็มีมาแล้ว
        3.กรณีที่ไม่ขายสินค้า แต่ เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้า ข้าวของ กันเองของพนักงานก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะ ข้าวของชิ้นนั้นจะถูกนำไปใช้เป็นประโยชน์อีกครั้ง  และใช้ได้อย่างคุ้มค่า เป็นการประหยัดทรัพยากรของโลกได้อีกทางหนึ่ง
        4.สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกันเองของพนักงาน โดยมีการทำกิจกรรมร่วมกัน การแลกเปลี่ยนสินค้า หรือการซื้อขายสินค้าแบบนี้ ส่วนใหญ่จะพอใจกันทั้งสองฝ่าย เมื่อเป็นเช่นนั้น พนักงานก็จะรู้จักกันมากขึ้น การที่พนักงานได้มีการพูดคุยกัน ทำความรู้จักกัน สร้างความเป็นกันเอง และเป็นการสร้างมิตรภาพที่ดีในองค์กร
        5.พนักงานจะได้มีการโละของที่ตัวเองไม่ต้องการใช้ออกมา ทำให้ห้องพักได้รับการดูแล ทำความสะอาด การสะสมของเชื้อโรคก็จะน้อยลง สุขภาพของพนักงานก็จะดีขึ้น ทำงานได้มากขึ้น ไม่เจ็บไม่ไข้ บริษัทก็จะได้ปริมาณงานที่มากขึ้นด้วย และประหยัดค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากพนักงาน
ที่ไม่ต้องไปหาหมอ

       การเตรียมงานเพื่อเริ่มกิจกรรมการจัดให้มีการเปิดท้าย แลกเปลี่ยน ขายของ ระหว่างพนักงานกันเอง

สถานที่ : อาจใช้ โถงทางเดินชั้นล่าง ก็ได้ ที่มีความกว้างพอ หรือใช้ห้องประชุม ที่มีขนาดใหญ่พอ
อุปกรณ์ : โต๊ะสำหรับวางสินค้า อาจเป็นโต๊ะหน้าฟอร์ไมก้าสีขาวก็ได้
การแบ่งกลุ่มของคนขาย : อาจแบ่งตามแผนก เช่น กลุ่มจัดซื้อ กลุ่มบัญชี หรือ กลุ่มตามสถานที่กลุ่มชั้น 3 กลุ่มโรงงาน
ระยะเวลาในการจัดงาน : จัดงานทุกต้นเดือน วันศุกร์ เวลา 11.30 – 13.30 . สาเหตุที่เลือกตัดวันนี้ก็เพราะว่า เป็นวันที่ทุกคนเพิ่งได้รับเงินเดือน มีเงินจับจ่ายใช้สอย และเป็นวันที่บางคนจะกลับต่างจังหวัด จะได้มีโอกาสซื้อของฝากทางบ้านได้
สิ่งที่สำคัญ: ผู้บริหารควรจะเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย เพื่อทำให้พนักงานรู้สึกว่า เป็นทั้งตัวผู้บริหารและพนักงานเป็นคนของบริษัทฯ เดียวกัน และเป็นการแสดง Spirit ของผู้บริหารว่ายอมเอาของที่มีราคาแพงมาขาย หรือแลกเปลี่ยน ในราคาถูก ๆ หรือไม่ และ ดูว่าผู้บริหารผู้นั้น ให้ความสำคัญต่อกิจกรรมของบริษัทหรือไม่
งบประมาณที่ใช้ : กรณีที่ต้องเปิดไฟ และแอร์ เพิ่ม 1 ชั่วโมง : คิดว่าไม่เกิน 150 บาท


       
       สิ่งที่บริษัทจะได้รับ อย่างคาดไม่ถึง คือ

        1.หากพิจารณาจากข้าวของ สินค้าที่แต่ละคนนำมา ขาย หรือแลกเปลี่ยนกัน จะพบว่าพนักงานแต่ละคน มีงานอดิเรกอะไรที่ทำอยู่ เช่น บางคนชอบอ่านหนังสือ ก็จะมีหนังสือมา บางคนชอบดูหนัง ชอบดูภาพยนตร์ ก็จะมีหนังหรือภาพยนต์มาขาย มาแลกเปลี่ยน บางคนชอบซื้อเสื้อผ้า ชอบซื้อรองเท้าก็จะ มีมาแลกมาขายได้ การที่เราได้รู้อย่างนี้ เมื่อเวลาต้องการซื้อของฝากให้เพื่อน หรือ ให้ของขวัญวันเกิดแก่เพื่อน ก็สามารถให้ได้อย่างถูกใจ และผู้รับก็คงจะดีใจไม่น้อยที่ได้รับของที่ตัวเองชอบ

        2.ข้าวของที่แต่ละคนนำมาขาย หรือนำมาแลกเปลี่ยน จะสะท้อนตัวตนของคนผู้นั้น ว่ามีรสนิยมอย่างไร หากเก็บข้อมูลดี ๆ จะพบว่าสามารถนำมาประกอบกับงานที่ผู้นั้นเหมาะที่จะรับผิดชอบ เช่น บางคนชอบอ่านหนังสือ ธรรมะ หากมีกิจกรรมเกี่ยวกับคุณพระคุณเจ้า ก็สามารถเลือกใช้คน ๆ นี้ได้ บางคนชอบสะสมของเล่น หากมีกิจกรรมที่ต้องปฎิสัมพันธ์ กับเด็ก ๆ ก็สามารถเลือกคนนี้ไปทำงานกับเด็กได้ หรือ บางคนนำเครื่องดนตรีเก่า ๆ มาขาย แสดงว่ามีความสนใจทางดนตรี หรืออาจเล่นดนตรีได้ เมื่อบริษัทมีกิจกรรมรื่นเริง เช่นงานปีใหม่ อาจให้คนคนี้มาเล่นดนตรีให้เพื่อนร่วมงานได้รับฟัง

        3.หากมีการเก็บข้อมูลที่ดี จะสามารถแยกแยะพนักงานออกได้เป็นกลุ่ม ๆ ได้แก่
-      กลุ่มที่ชอบทำกิจกรรม ได้แก่พวกที่มาร่วมขาย ร่วมแลกเปลี่ยนสินค้า  และส่งเสียงเจี๊ยวจ้าว คนพวกนี้ เหมาะที่จะเป็นตัวแทนของบริษัทไปทำกิจกรรมร่วมกับคนภายนอก เช่น เป็นตัวแทนไปออก Booth  รับสมัครพนักงาน เป็นตัวแทนบริษัทร่วมทำกิจกรรมสาธาระประโยชน์ เช่น ปลูกป่า สร้างโรงเรียน ห้องน้ำ
-      กลุ่มที่กลาง ๆ พนักงานกลุ่มนี้ มักจะหาโอกาสแสดงความสามารถของตนเองออกมา หากมีโอกาสก็จะแสดงทันที พวกนี้เหมาะที่จะให้ทำงานเป็นกลุ่ม หากบริษัทมีกิจกรรมที่ต้องระดมความคิด หรือกิจกรรมที่ต้องการคนจำนวนมากไปร่วมงานคนพวกนี้จะสามารถเรียกใช้ได้ทันที
-      กลุ่มที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ อาจแบ่งได้เป็นอีก 3 กลุ่มย่อย
        กลุ่มย่อยที่ 1 ไม่ร่วมงานเพราะมีเหตุจำเป็นพวกนี้ มีข้อยกเว้น เช่น ไม่มาทำงานในวันนั้น เพราะป่วย หรือ มีเรื่องด่วนจำเป็นจริง ๆ  พวกนี้ต้องรอดู อีก ครั้ง สองครั้งว่าจะมาร่วมงานหรือไม่ ถ้าไม่มาร่วมงานเพราะมีเหตุจำเป็น ก็อภัยได้
        กลุ่มย่อยที่ 2 ไม่ร่วมงานเพราะอาย พวกนี้ไม่เหมาะที่จะเก็บไว้เป็นพนักงาน เพราะในการดำเนินธุรกิจ พนักงานทุกคนต้องกล้าแสดงออก และต้องมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมของบริษัท และให้โอกาสอีก 1 ครั้ง พร้อมชี้แจงว่าทำไมต้องเข้าร่วมงาน
    หากว่าคราวถัดไปมาร่วมงาน ก็ OK หากไม่มาร่วมงานก็ BYE BYE ได้เลย
        กลุ่มย่อยที่ 3 ไม่ร่วมงาน และยังแสดงทัศนคติลบ เช่น กล่าวถึงโครงการนี้อย่างเสีย ๆ หาย ๆ  ควรจะรีบเชิญให้ออกไปจากองค์กรเพราะคนพวกนี้ จะไม่เดินตามแนวคิด ทิศทางของบริษัท รังแต่จะเป็นภาระให้บริษัท ต่อไป

        4.ในการจัด งานให้จัดปลายเดือน เนื่องจากเป็นช่วงเงินเดือนออก พนักงานทุกคนจะได้มีเงินไว้ใช้จับจ่าย ใช้สอย เพื่อว่าบางคนจะได้ซื้อของกลับไปฝากครอบครัว ในราคาถูก โดยเฉพาะคนที่อยู่ต่างจังหวัดอาจจะได้ ของไปฝากญาติ พี่น้อง ที่อยู่ต่างจังหวัด และ ทำให้ได้ของดีราคาถูก ทุกคนในครอบครัวของพนักงานก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้นด้วย หากบางคนมีการกู้หนี้ยืมสินกันอยู่ อาจจ่ายคืนกลับเป็นสินค้าก็ได้ในงานนี้ ใครจะรู้.......

        หวังว่า บทความนี้ จะเป็นประโยชน์ แก่ผู้ที่สนใจ
        ขอบคุณมากครับ  
        สมชัย เจริญวรเกียรติ somchai48@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น